เหตุผลที่ 1 คณะในฝัน
อันดับแรก คือกลุ่มคนผู้โชคดี มีคณะในฝันอยู่แล้ว รู้ตัวเองว่าอยากเรียน อยากเข้าคณะอะไร ก็มุ่งมั่นไปสู่คณะเป้าหมายได้อย่างเต็มที่ บางคนเป็นความฝันตั้งแต่เด็ก บางคนอาจเพิ่งเจอระหว่างทาง เอาเป็นว่า ยิ่งรู้ตัวไว ก็ถือเป็นข้อได้เปรียบ เพราะการได้เรียนในสิ่งที่ตัวเองชอบ สิ่งที่ตัวเองใฝ่ฝัน ยังไงก็มีความสุข เพราะเราจะทำมันออกมาได้อย่างเต็มที่
เหตุผลที่ 2 มีอาชีพรองรับแน่นอน
การเลือกเรียนในคณะที่มีอาชีพตลาดแรงงานรองรับ ก็ถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ใช้เลือกคณะ ซึ่งความแตกต่างของแต่ละคณะนั้นก็มีอย่างหลากหลาย บางคณะอาจมีเงินเดือนที่สูง ก็ย่อมมีการแข่งขันที่มาก หรือบางคณะอาจไม่ได้เงินเดือนสูง แต่เป็นสายอาชีพที่มีความมั่นคง ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน เพราะฉะนั้นอาชีพการทำงาน เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ เพราะการเลือกคณะเรียนในระดับปริญญาตรี ย่อมมีผลค่อนข้างสูงต่ออาชีพการทำงานในระยะยาวที่เราจะได้ทำแน่นอน
เหตุผลที่ 3 ดูตามความสนใจ
ข้อนี้เกิดจากการสังเกตตัวเอง ดูว่าเราชอบหรือสนใจอะไรเป็นพิเศษ อย่างเช่น ชอบคำนวณ ภาษา กีฬา หรือด้านอื่น ๆ แล้วดูว่าความสนใจของตัวเรานั้น มีคณะ/สาขาวิชาไหนเปิดสอนบ้าง ซึ่งนอกจากการสังเกตตัวเองแล้ว เราอาจจะใช้วิธีการอื่น ๆ ร่วมด้วยก็ได้ เช่น ไปค่ายค้นหาตัวตน ทำแบบทดสอบวิเคราะห์ตัวเอง คือใช้ความสนใจของตัวเองเป็นตัวตั้งหลัก เพื่อไปสู่คณะเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้น
เหตุผลที่ 4 มหาวิทยาลัยใกล้บ้าน
การเลือกเรียนหรือได้เรียนในมหาวิทยาลัยใกล้บ้าน ที่เป็นคณะในฝันของเรา ถือว่ามีแต้มบุญดีอย่างหนึ่ง เพราะเราจะได้กิน นอน อยู่ที่บ้านเหมือนเดิม พูดง่าย ๆ คือ วิถีชีวิตอาจไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก หรืออาจจะไม่เป็นมหาวิทยาลัยใกล้บ้านก็ได้ แต่มีการเดินทางที่สะดวกสบาย ก็นับว่าเป็นเรื่องที่แฮปปี้แล้ว แต่สำหรับน้อง ๆ บางคนอาจเลือกไม่ได้ ถ้าอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด แล้วดันติดมหาวิทยาลัยในกรุงเทพ ก็ต้องเข้ามาอยู่หอพัก ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่ไม่ดีอะไร เราก็จะได้ใช้ชีวิตและมีประสบการณ์ใหม่ เผลอ ๆ น้องบางคนก็แอบตั้งใจ อยากจะใช้ชีวิตเป็นเด็กหอซะด้วยก็มีนะ
ที่มา : TruePlookpanya